ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
จากการร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มนิสิตจิตอาสา การสนับสนุ... ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

จากการร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มนิสิตจิตอาสา การสนับสนุนของผู้บริหาร คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ ของมหาวิทยาลัย จึงทำให้ องค์กรนิสิต มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สามารถจัดทำห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติฯ ได้ในที่สุด

ห้องสมุดสระแก้ว

 

♠ จิตอาสา งานที่เพิ่มค่าความเป็นมนุษย์ ♠

โดย : นางสาวกฤษณา มั่นพันฒนาการ
นิสิตคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ ๔
ประธานชมรมพุทธศิลป์

       ยุคสมัยย่อมเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขแห่งกาลเวลา การเชื่อมต่อกันของสิ่งมีชีวิตนั้นมีหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงบาทวิถีของคนสู่คนอันจะเกี่ยวโยงต่อเนื่องกันเป็นห่วงโซ่แห่งสายใย จากปัจเจกสู่ชุมชนหรือกลุ่มคนจดเกิดการสอดประสานเกี่ยวรัด ขยับใกล้เข้ามาอีกในยุคโลกาภิวัตน์  (globalization) โลกใบนี้ดูเล็กลงไปถนัดใจ กระนั้นท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมจนอาจมีแนวโน้มว่า คนบนโลกจะต้องแย่งชิงทรัพยากรกันเองในอนาคตอันใกล้ อุปสงค์เริ่มลดน้อยแต่อุปทานกลับทวีคูณ และต่างก็แห้งแล้งด้วยเพราะขาดสำนึกแห่งการแบ่งปัน ชีวิตที่คาดคั้นคาดหวังให้รู้จักแต่การรับเอา มิใคร่คิดจะหยิบแล้วยื่นให้กับผู้อื่นบ้าง ต่างขยับหนีลดพื้นที่แห่งความหวังของกันและกันโดยมิรู้ตัว เดียวดายหลบซ่อนอยู่ในคืนไร้ดาวดุจดั่งยืนอยู่ใจกลางถ้ำมืดมนอนธการ ไฉนจะมองเห็นแสงดาวแห่งศรัทธาได้เมื่อมัวแต่ก้มหน้าก้มตาตักตวงผลประโยชน์แห่งตน การแบ่งปันเปรียบได้ปานแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์ แสงริบๆ นั้นนำทางความหวังและปรารถนาดีกลับมาสู่สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ การรู้จักให้ไม่ได้ทำให้หัวใจดวงโตกว่าเดิม แต่ทว่ามันทำให้รู้ว่า หัวใจธรรมดาที่เต้นตุบๆ ดวงหนึ่ง มันจะปีติที่สุดเมื่อมันได้เต้นเพื่อผู้อื่น แหล่ะนั่นอาจจะเป็นทางรอดเพียงทางเดียวบนบาทวิถีแห่งเราและโลกใบนี้

มือที่คว่ำ กับ มือที่หงาย  มือผู้รับ กับมือของผู้ให้

  จริงๆ แล้วสัญลักษณ์มือคว่ำและมือหงาย คือสิ่งที่อยู่กับตัวเรามาตั้งแต่เล็กจนโต ตอนเด็กๆ เราเคยแบมือขอค่าขนมจากพ่อแม่ แต่แทบนับครั้งได้ที่เราจะคว่ำมือลงในลักษณะของการหยิบยื่นอะไรให้แก่ผู้อื่นบ้าง ด้วยศรัทธาในสิ่งที่สร้างทำ วันนี้มือน้อยๆ จึงลองพลิกจากหงายกลายเป็นคว่ำ สวมบทบาทในการเป็นผู้ให้คืนแก่สังคม

ผู้ร่วมทางครั้งนี้คือกลุ่มนิสิตมหาจุฬา ซึ่งได้รับการเสริมพลังจาก องค์กรนิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในความฝันที่จะสร้างห้องสมุดวิถีพุทธเพื่อเด็กน้อย โครงการที่วาดฝันค่อยขยับเป็นรูปร่าง ดุจดั่งคบไฟขับไล่ความมืด หมู่นิสิตต่างเติมเชื้อไฟฝันให้แก่กันและกัน และได้กลายเป็นโครงการ “ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ ๘๒ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ด้วยแรงผลักดันจากผู้ใหญ่ใจดีมากมาย

ทีมงานนิสิตแบ่งงานแบ่งหน้าที่กันทำ มีการเปิดรับบริจาคสิ่งของและหนังสือ ณ ห้ององค์กรนิสิต มจร ส่วนกลาง การส่งตัวแทนนิสิตเดินทางไปรับสิ่งของบริจาคตามสถานที่ต่างๆ การระดมทุนผลงานศิลปะวันแม่ เพื่อร่วมสมทบทุนในการสร้างห้องสมุด การลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนบ้านเนินสะอาดของหลวงพี่ปอนด์ และพี่สนุกเกอร์ โดยมีคุณครูใหญ่ พี่พัชรพงษ์ สุขแสวง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเนินสะอาด และคุณครูระนอง สายทอง เป็นผู้ให้ข้อมูล นิสิตทุกรูป/คน ต่างช่วยงานกันอย่างขยันขันแข็ง เตรียมงานกันข้ามวันข้ามคืนโดยมิรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ยิ่งใกล้วันเดินทางก็ยิ่งรู้สึกตื่นเต้นกับการเป็นจิตอาสาในครั้งนี้ และแล้วเมื่อถึงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ นิสิตจิตอาสาต่างก็มาช่วยกันขนย้ายอุปกรณ์การเรียนไม่ว่าจะเป็นหนังสือ สมุด ดินสอ ยางลบ ปากกา ฯลฯ ที่จะนำไปมอบให้กับเด็กๆ โรงเรียนบ้านเนินสะอาด จังหวัดสระแก้ว

คณะจิตอาสาเดินทางไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัยในช่วงโพล้เพล้ใกล้มืด ฟ้าฝนแสดงการต้อนรับอย่างหนักหน่วง ทำเอานิสิตจิตอาสาต้องเปียกปอนอยู่กลางสายฝน ขณะช่วยกันขนย้ายสัมภาระต่างๆ ลงจากรถบัสสีชมพูพะยี่ห้อมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หลังจากจึงได้ประชุมย่อยเพื่อแบ่งงานแบ่งหน้าที่

เริ่มวันแรกของการทำงาน หลังจากเก็บที่หลับพับที่นอน เสร็จสรรพก็จวนสว่างใกล้รุ่ง อากาศยามเช้ากับไอเย็นของปลายฝนเมื่อค่อนคืนทำให้รู้สึกสดชื่นอยู่ในหัวอก เสริมพลังด้วยอาหารเช้าจากฝีมือของคณะครูและทีมแม่ครัวของนิสิตชาวค่าย คือน้องมิ้งและน้องแป้ง ต่อด้วยการทำความเข้าใจกับภาระงานที่ได้แบ่งกันไว้และลงมือปฏิบัติตามแผน PDCA ในเวลาเดียวกัน ส่วนของการอบรมเยาวชน ฝ่ายกิจกรรมนำโดยหลวงพี่ตั้มก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย น้องๆ ได้รับความสนุกสนานพร้อมสาระธรรมจากพระธรรมวิทยากร มีช็อตซึ้งๆ เรียกน้ำตาจากธรรมะของแม่อีกด้วย ก่อนที่จะมีการเปิดเวทีแนะนำตัวคณะนิสิตอาสาทั้งหมด กับเด็กๆ นักเรียนและชาวชุมชนบ้านเนินสะอาด

รุ่งสางฟ้าครึ้มในอีกวัน ฝนประจันทิวเขา ใบไม้ร้อยเรียงสลักเสลาพัดโบกพลิ้วด้วยแรงลม เสียงไก่ขันปลุกให้ตื่นจากนิทรารมณ์ ส่วนอีกฝั่งเล่าให้ฟังว่านาฬิกาที่ปลุกให้ตื่นนั้นคือ เจ้าดำ เจ้าด่าง และยุง เสียงกระซิบเล่าสู่กันฟังระคนเสียงหัวเราะว่าคนอะไรนอนกับหมา หลังรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยก็ลุยงานต่อ ทุกฝ่ายช่วยกันอย่างเต็มที่แม้กระทั่งแม่ครัวก็ยังมาช่วย ฝ่ายศิลป์ก็ลงมือผสมสีวาดลวดลาย จู่ๆ มีงานเพิ่มจากที่วางแผนไว้สองจุด คือการเขียนป้ายคำขวัญของโรงเรียน และวาดผนังหน้าเวที จึงต้องแบกถังสีเข้าออกที่กำบัง เนื่องจากฝนฟ้าตกบ้างหยุดบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้คณะทดท้อ ต่างยังคงทำงานด้วยความสนุกสนาน แต่กระนั้นก็มีอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ เข้ามาให้ได้แก้ไขอยู่ตลอดเวลา อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่เพียงพอช่างไฟจึงไม่สามารถเดินสายไฟได้ กว่าไฟจะมาก็มืดค่ำ ส่วนชมรมพุทธศิลป์ก็กะจะวาดให้ทันกำหนดการ พากันวาดจนลืมดูเวลาดึกดื่นจนเกือบเช้า

เช้าวันที่สามอากาศดีเป็นพิเศษไม่มีเมฆฝนเป็นอุปสรรคในการทำงาน การเก็บรายละเอียดตามจุดต่างๆ จึงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จากนั้นผู้อำนวยการ คณะครู ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน และและประธานสมาคมผู้ปกครองโรงเรียนบ้านเนินสะอาด ก็กล่าวขอบคุณคณะนิสิตจิตอาสาฯ และมอบของที่ระลึก พร้อมกันนั้นคณะนิสิตก็ได้มอบวารสารเสียงธรรม อันเป็นกระบอกเสียงธรรมของเหล่านิสิตให้ฝากไว้ได้คิดถึงกัน

เมื่อเวลาได้ก้าวผ่านหัวใจอันแห้งแล้วและเปล่าดาย คุณจะได้รู้ว่าการดำรงชีวิตแบบ“ตัวใครตัวมัน”นั้นไม่ใช่ทางออกและทางรอดของชีวิตและสังคม การแบ่งปันการหยิบยื่นให้ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะทำให้สังคมไทยประดับเต็มไปได้ด้วยรอยยิ้มและความการุณย์ นำมาซึ่งประสบการณ์ที่แตกต่างอันหาไม่ได้จากการจับเจ่าในห้องเรียน การแบ่งปันเผื่อแผ่ซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่านวัตถุสูงค่าราคาแพง แต่เราสามารถให้ได้ด้วยการดูแลและเอาใจใส่ แบ่งปันความรู้สึกนึกคิด ความหวังความปรารถนาดี ไฟแงอุดมการณ์และจินตนาการโดยไม่จำกัดพื้นที่ตำบลความฝันตก  ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้สึกว่าโลกนี้แท้จริงแล้วมันสวยงามยิ่งนัก หากคนไทยมีจิตอาสากันเต็มแผ่นดิน อาบรดสังคมด้วยน้ำใจแห่งตน ความสุขสงบของสังคมคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม… มาสิ ลองมาร่วมทางกัน…

เราจะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของการ “ให้” ก็ต่อเมื่อ… เราได้เป็นผู้ให้ ที่ให้โดยไม่หวังอะไรตอบแทน

 

ขออนุโมทนาสำหรับสายธารบุญผู้ร่วมสนับสนุนในโครงการนี้ หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดบ้านเนินสะอาด ที่อนุเคราะห์สถานที่พัก และคุณสุทธนากร ธนาหมายมี ประธานสมาคมวินเซน เดอ ปอล นครราชสีมา ที่อนุเคราะห์เรื่องการเดินทางลงสำรวจพื้นที่ ผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมบริจาคจาก วัดประยูรวงศาวาส, หอจดหมายเหตุพุทธทาส, หอสมุดแห่งชาติ พระมหามงคล ในจุดรับบริจาค “วัดบางเสาธง” จุดรับบริจาค “วัดระฆัง” อนุเคราะห์ โดย พระมหาทินกร นิสิตคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ ๔ ทั้งนี้ ต้องขออนุโมทนา กับ “ทิด นเรศ จะแรกรัมย์” อดีต นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มจร สำหรับพาหนะ ในการขนของในครั้งนี้ ที้ขาดไม่ได้คือคณาจารย์ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และเพื่อนนิสิตที่ช่วยอุดหนุนผลงานศิลปะเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๗.